ประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการเกี่ยวกับกีฬาที่ใช้แร็กเก็ตโลก ครั้งที่ 6
ระดมสมองคนกีฬาโลกพัฒนากีฬาแร็กเก็ตสปอร์ตทั้งแบดมินตัน เทเบิลเทนนิส และเทนนิส จัดประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการเกี่ยวกับกีฬาที่ใช้แร็กเก็ตโลก ครั้งที่ 6 คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เผยกีฬาที่ใช้แร็กเก็ตได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ฝึกสอนและนักกีฬา พยายามทุกทางเพื่อให้มีศักยภาพเหนือคู่แข่ง การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการรวบรวมองค์ความรู้หลายแขนง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพฯ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ คณะกรรมการบริหารสหพันธ์แบดมินตันโลก และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการกีฬาที่ใช้แร็กเก็ตโลก ครั้งที่ 6(6th World Congress of Racket Sport Science 2018)โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ,มหาวิทยาลัยมหิดล,สหพันธ์แบดมินตันโลก(บีดับเบิ้ลยูเอฟ),สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ(ไอทีทีเอฟ),สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ(ไอทีเอฟ)และการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.)
คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬาถือเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญและเป็นที่ยอมรับมาก เพราะนอกจากช่วยเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาแล้ว ยังลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการบาดเจ็บระหว่างแข่งขัน ประกอบกับ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา กีฬาที่ใช้แร็กเก็ตได้รับความนิยมมากขึ้น บรรดาผู้ฝึกสอนและนักกีฬาพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งขัน งานวิจัยจำนวนมากพบหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อศักยภาพของนักกีฬา จึงถือเป็นการดีที่การประชุมครั้งนี้จะรวบรวมองค์ความรู้หลายแขนงเกี่ยวกับกีฬาที่ใช้แร็กเก็ต รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องที่สนใจ ได้พบปะหารือถึงความก้าวหน้าของความรู้ด้านนี้ และอัพเดทข้อมูลที่ทันสมัยมากขึ้นด้วย
"ในการจัดประชุมครั้งนี้ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ต้องขอขอบพระคุณ ดร.ดาวิด คาเบลโญ่ และโรดริโก้ ปาเชโก้ จากบีดับเบิ้ลยูเอฟ ดร.มิราน โคนดริค จากไอทีทีเอฟ และ นาวาอากาศเอก จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย จากสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ รวมถึง นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทุ่มเทตั้งแต่ในขั้นตอนเตรียมการ จนถึงการประชุมนี้ เช่นเดียวกับการร่วมมือของทุกภาคส่วนในเบื้องต้น ที่ทำให้มีงานดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย” คุณหญิงปัทมา กล่าว
ด้าน พอล อิริค โฮเยอร์ ประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะครอบคลุมทั้งเรื่องข้อมูลชีวกลศาสตร์ (Biomechanics), อาการบาดเจ็บ, โภชนาการของนักกีฬา และอีกหลากหลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อนักกีฬาทั้งร่างกาย และจิตใจ เพราะทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่องค์กรกีฬาทั่วโลกต้องรับผิดชอบ ให้พวกเขายืนระยะการเล่นไปได้นาน ๆ และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปอย่างต่อเนื่อง
รศ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะจัดไปถึงวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับกีฬาที่ใช้แร็กเก็ต ทั้งแบดมินตัน เทนนิส และเทเบิลเทนนิส ระหว่างนักวิชาการ, ผู้ฝึกสอน, นักศึกษา, บุคลากรที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจศาสตร์ด้านกีฬา โดยมุ่งเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนานักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ โดยมีวิทยากรผู้ทรงความรู้ในวงการวิทยาศาสตร์การกีฬาจากทั่วโลก มาร่วมกันให้ความรู้