ประธานไอโอซี ยกไทยจัด 3 ศึกใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เครดิตมาตรการบับเบิ้ลสุดปลอดภัย

ประธานไอโอซี ยกไทยจัด 3 ศึกใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เครดิตมาตรการบับเบิ้ลสุดปลอดภัย

 

 

 

6 มกราคม 2564 – โธมัส บาค ประธานไอโอซี ยกประเทศไทยที่จัด 3 ศึกใหญ่แบดมินตันครั้งประวัติศาสตร์ เป็นต้นแบบจัดการแข่งขันกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก พร้อมให้เครดิตมาตรการบับเบิ้ลสุดปลอดภัย สหพันธ์กีฬานานาชาติอื่น ๆ นำไปใช้ในกีฬาของตัวเองได้

              คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ตลอดเดือนมกราคมนี้ ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งมีสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ เป็นผู้จัดการแข่งขัน และได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดีนั้น

ล่าสุดทาง โธมัส บาค ประธานไอโอซี ได้แสดงความชื่นชมมายังรัฐบาลไทย และตนเอง ที่จัดการแข่งขันในระบบ บับเบิ้ล ที่มีความปลอดภัยสูงมากในการป้องกันไวรัสโควิด-19 และไม่มีผู้ชม แต่มีการถ่ายทอดออกไปถึง 3,000 ล้านครัวเรือนทั่วโลก

“ประธานไอโอซี ระบุว่า การจัดการแข่งขันของไทยนับเป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีการระบาดทั่วโลก และแน่นอนต้องให้เครดิตไทยกับมาตรการบับเบิ้ล ที่ถือว่าปลอดภัย สหพันธ์กีฬานานาชาติอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ในกีฬาของตัวเองได้” คุณหญิงปัทมา กล่าว

ด้านกรณีของ เควิน ซานจาย่า ซูคัลโมโจ หนึ่งในชายคู่มือ 1 ของโลกจากอินโดนีเซีย ติดโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องถอนตัวจากแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ที่ไทย ส่วนนักแบดมินตันอินโดนีเซียคนอื่น ๆ มีผลทดสอบเป็นลบ และเดินทางมาไทย ตามกำหนดนั้น คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล เควิน ถูกกักตัวในอินโดนีเซียมาตั้งแต่วันที่ 16-17 ธันวาคมแล้ว และมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลายครั้ง ซึ่งมีทั้งผลบวกและลบ สมาคมกีฬาแบดมินตันอินโดนีเซีย พิจารณาแล้ว จึงไม่ให้ เควิน เดินทางมาไทย เพื่อความปลอดภัย

สำหรับการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จะเปิดฉากด้วย รายการ "โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น" เวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคมนี้ ต่อด้วยรายการ "โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น" เวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 ระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม 2564 และ เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020 ระหว่างวันที่ 27-31 มกราคม 2564 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดไปยัง 3,000 ล้านครัวเรือนทั่วโลก 

ส่วน Bubble Quarantine หรือ OQ นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนก่อนออกเดินทางต้องมีเอกสารฟิตทูฟลาย (Fit To Fly) ออกโดยแพทย์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เมื่อแพทย์ยืนยันว่าไม่มีเชื้อ จึงจะเดินทางออกมาและเข้าประเทศไทยได้ไม่เกินวันที่ 4 มกราคม ทุกคนต้องเข้าอยู่ในสถานที่กักกันตัวตั้งแต่ระหว่างวันที่ 4-31 มกราคม 2564 ห้ามออกก่อนครบกำหนด 14 วัน

และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยต้องรับการตรวจเชื้อทันที และถูกกักตัวในห้องพัก ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนห้องพักจากที่จัดเตรียมไว้ให้ เมื่อผลเป็นลบนักกีฬาจึงจะสามารถออกมาฝึกซ้อมและเตรียมร่างกายได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม หลังจากนั้นจะมีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่องและถี่มาก ตั้งแต่ก่อนการกักตัว ระหว่างการกักตัว และหลังการกักตัว ตรวจหาเชื้อไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้ง

ทุกคนต้องทานอาหารกล่องคนเดียวในห้องพักเดี่ยว จะมีการแบ่งแยกประเทศ ทั้งในเชิงกายภาพและตารางเวลาซ้อม ห้ามแต่ละประเทศพบกัน นักกีฬาจากประเทศต่าง ๆ จะพบกันขณะทำการแข่งขันเท่านั้น ด้านการแข่งขันมีการลดจำนวนสนามแข่งขันเหลือเพียง 3 สนาม เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างสนามห่างกว่าเดิมมาก แต่ละสนามซ้อมเว้นระยะห่างกว่าเดิมและมีผนังกั้นแยกแต่ละสนามซ้อม การรับลูกขนไก่เปลี่ยนจากรับจากมือผู้ตัดสินเป็นรับจากเครื่อง

หลังจากกักตัวครบ 14 วันใน Bubble แล้ว ยังคงไม่สามารถออกจาก Bubble จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของรายการแข่งขันที่ 3 สำหรับผู้ที่ตกรอบหากประสงค์จะออกจาก Bubble ต้องรอจนพ้น 14 วัน และไม่สามารถกลับเข้ามาใน Bubble ได้อีก รวมทั้งห้ามผู้ที่อยู่ภายนอกบับเบิ้ลเข้าโดยเด็ดขาดเช่นกัน

นักกีฬาและคณะทั้งหมด ต้องปฏิบัติตามมาตรการ และกฎระเบียบด้านสุขภาพ และความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ครอบคลุมทุกขั้นตอนอย่างละเอียด หากใครทำผิดมาตรการแม้เพียงข้อเดียวจะหมดสิทธิ์ทำการแข่งขัน และต้องถูกตรวจเชื้ออีกครั้ง ก่อนถูกส่งตัวกลับไปประเทศของตน

ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของทีมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากกรมควบคุมโรค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง กรมแพทย์ทหารอากาศ และธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่จะเข้าไปกำกับดูแลควบคุมตลอดช่วงการจัดการแข่งขัน โดยการจัดการแข่งขันแบดมินตันดังกล่าวได้อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรคและ

พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัดเข้มงวดตลอดช่วงระยะเวลา 1 เดือนของการแข่งขันทั้ง 3 รายการ