ระบบนับคะแนนแบดมินตัน ควรเปลี่ยนหรือไม่ ความเห็นของนักตบลูกขนไก่ทั่วโลก สำคัญสุด
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก หรือบีดับเบิ้ลยูเอฟ และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ สำรวจความเห็น ระบบนับคะแนนใหม่ในกีฬาแบดมินตัน จาก แรลลี่ พอยท์ 21 คะแนน 2 ใน 3 เกม เป็นแรลลี่ พอยท์ 11 คะแนน 3 ใน 5 เกม ควรเปลี่ยนหรือไม่ในอนาคต
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก หรือบีดับเบิ้ลยูเอฟ และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า นับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากข้อเสนอของสหพันธ์แบดมินตันโลก โดยพอล อีริก โฮเยอร์ ลาร์เซ่น ประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการนับคะแนนในการแข่งขัน จาก 21 คะแนน 2 ใน 3 เกม เป็น 11 คะแนน 3 ใน 5 เกม ได้ถูกโหวตตกไป
ทั้งนี้ พอล อีริก โฮเยอร์ ลาร์เซ่น ประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ยังคงไม่ล้มเลิกความคิดที่จะนำระบบการนับคะแนนใหม่มาใช้ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเดนมาร์กประเทศบ้านเกิดไว้ว่า เขายังคงปรารถนาที่จะเปลี่ยนระบบการนับคะแนน เพราะมองว่าระบบการนับคะแนนในปัจจุบันใช้เวลานานเกินไป และไม่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ชม โดยการเปลี่ยนแปลงระบบการนับคะแนนจะเป็นส่วนหนึ่งในมาตราการเพื่อทำให้แบดมินตันยังคงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในวงการกีฬาโลก
สำหรับระบบการนับคะแนน 21 คะแนน 2 ใน 3 เกม ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2006 แทนที่ระบบดั้งเดิมคือ 15 คะแนน 3 ใน 5 เกม
สหพันธ์แบดมินตันโลก ได้ทดลองใช้ระบบการนับคะแนนใหม่กับรายการแข่งขันในระดับรองลงมาในปี 2014 แต่ต้องรอจนกว่าการประชุมใหญ่ในปี 2018 ที่กรุงเทพฯ จึงได้มีการนำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงระบบนับคะแนนนี้มาให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ จากทั่วโลกลงคะแนนรับรอง ซึ่งผลปรากฏว่า ข้อเสนอดังกล่าวต้องตกไป เพราะไม่สามารถได้รับเสียงส่วนใหญ่จำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรับรองเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้
รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลกหญิงไทย ได้ยกคำพูดของ พอล อิริก โฮเยอร์ ลาร์เซ่น ที่ได้ยอมรับว่า หากเขายื่นเรื่องนำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงการนับคะแนนใหม่เข้าในการประชุมใหญ่ในอนาคตก็จะยังคงเป็นงานยากที่จะได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ เพราะแม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนอยู่ส่วนหนึ่ง แต่คงจะไม่ถึงจำนวนเสียง 2 ใน 3 เพื่อให้ข้อเสนอผ่านไปได้
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงปัทมา รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ได้ทำการสุ่มสำรวจความคิดเห็นในเรื่องนี้จากหลายภาคส่วนในแวดวงการกีฬาแบดมินตันในประเทศไทย “ส่วนใหญ่เห็นว่า ยังคงต้องการระบบแรลลี่พอยท์ 21 คะแนน เกมสนุกตื่นเต้นกว่า เพราะนักกีฬาที่เล่นพลาด ยังมีโอกาสไล่กลับมาพลิกเกมได้ ต่างจากการเล่น 11 คะแนนเป็นเกมที่ค่อนข้างสั้น ถ้าใครพลาดก่อน โอกาสไล่กลับมาชนะในเกมนั้น จะค่อนข้างยาก จะทำให้เกิดการทิ้งเกม ๆ นั้นได้ง่าย หลายเสียงในไทยมองว่าการเล่น 11 คะแนนจะทำให้เกมไม่สนุก ทุกวันนี้คุณค่าของความบันเทิงในแบบเก่าก็มีอยู่แล้ว ไม่เชื่อว่าแบบใหม่จะสนุกขึ้น และแบบใหม่อาจจะทำให้เสน่ห์เดิมของแบดมินตันหายไป บางเสียงเสนอให้สอบถามความคิดเห็นจากนักกีฬาชั้นนำปัจจุบันทั่วโลกให้ครบก่อน”
คุณหญิงปัทมากล่าวว่า “สำหรับส่วนตัวเห็นว่าการได้รับคะแนน 2 ใน 3 จากที่ประชุม เป็นงานหนักสำหรับสหพันธ์แบดมินตันโลก ซึ่งจะต้องทำงานต่อไปในการให้ความรู้และความเข้าใจให้ได้ว่า ถ้าเกมเร็วขึ้นหยุดมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่องานทีวีมากขึ้น จะมีงานโฆษณามากขึ้น จะส่งผลต่อนักกีฬาทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร แต่เชื่อมั่นว่าประธานสหพันธ์แบดมินตันโลกย่อมคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของนักกีฬาแบดมินตันทั้งหมด และภาพรวมของกีฬาแบดมินตันเป็นสำคัญ ปัจจุบัน 1 แมตช์การแข่งขันไม่ได้ใช้เวลามาก เฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง นักกีฬากับความฟิต ความทนทาน เป็นของคู่กันในหลาย ๆ ชนิดกีฬา เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าควรสอบถามความเห็นนักกีฬา เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัว เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บของนักกีฬาประเภทหญิง ประเภทหญิงเดี่ยว คือเดิมประเภทหญิงเดี่ยว เล่น 11 แต้ม ในขณะที่ประเภทอื่น ๆ เล่นที่ 15 แต้ม และต่อมาภายหลังมาเปลี่ยนเป็น 21 แต้มทั้งชายและหญิง และประเภทหญิงเดี่ยวเพิ่มเป็น 21 แต้มเช่นเดียวกับประเภทอื่น ๆ จึงอยากเสนอให้ปรับลดการนับแต้มของหญิงเดี่ยว และหญิงคู่ เพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการบาดเจ็บในนักกีฬาเพศหญิง” คุณหญิงปัทมากล่าว