ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตันครั้งแรก

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน  ชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตันครั้งแรก

 

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน (1st Special Olympics Asia Pacific Unified Badminton Championship 2019) เป็นครั้งแรกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค  ระหว่างวันที่  12-16 พฤศจิกายน 2562 ณ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก  สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคฯ จับมือ 4 องค์กรพันธมิตรสร้างต้นแบบการจัดรายการแข่งขันระดับสากล  นำนักกีฬาที่พิการทางสติปัญญาและนักกีฬาทั่วไปร่วมทีมแข่งขันด้วยกันเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางกีฬา และ ความเสมอภาคทางสังคม พร้อมจัดคอนเสิร์ตรอบพิเศษ โดย BNK 48 สร้างขวัญและกำลังใจให้นักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิค

สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน ครั้งที่ 1 ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ พร้อมการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง 5 ภาคี กับ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์   การกีฬาแห่งประเทศไทย     บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จํากัด   และบริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) โดยมีประธานกรรมการบริหาร      สเปเชียลโอลิมปิคสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค และ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) สปอนเซอร์หลัก ให้เกียรติร่วมงาน
 
นายไซม่อน โก๊ะ ประธานกรรมการบริหาร สเปเชียลโอลิมปิคสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า “สเปเชียล        โอลิมปิคเป็นสหพันธ์กีฬาสากลที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้พิการทางสติปัญญาโดยใช้การกีฬาเป็นเครื่องมือ การจัดการแข่งขันรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสเปเชียลโอลิมปิคสากล และ สหพันธ์แบดมินตันโลก ในการเพิ่มโอกาสการแข่งขันกีฬาให้กับนักกีฬากลุ่มเป้าหมาย และ การร่วมเล่นกีฬากับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความพิการ ทั้งนี้ ได้เลือกประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพแรกของการจัดรายการนี้ เนื่องจาก สเปเชียล     โอลิมปิคไทย มีผลงานโดดเด่นในการดำเนินงานทางกีฬา รวมถึงการขยายผลโครงการต่างๆอย่างดีตลอดช่วงระยะ      20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง จึงมีความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับระบบจัดการแข่งขันรายการนี้ต่อไปในอนาคต”

ดร.นริศ  ชัยสูตร  นายกสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า “ประเทศไทยได้เริ่มนำกีฬาแบดมินตันมาฝึกสอนนักกีฬาพิเศษ 10 ปีที่แล้ว และที่ผ่านมาได้นำนักกีฬาแบดมินตันไปแข่งขันในกีฬาระดับโลกของสเปเชียลโอลิมปิคมา 2 ครั้งแล้ว สำหรับครั้งนี้ สมาคมฯได้ทำการคัดเลือกนักกีฬา จากการแข่งขันมหกรรมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคชิงแชมป์ประเทศไทยในเดือนสิงหาคมและจะส่งนักกีฬาแบดมินตันคู่ยูนิฟายด์    รวมทั้งสิ้น 16 คน (ชาย 8 คน 8 หญิง  คน)เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน โดยจะนักกีฬาเหล่านี้จะทำการเก็บตัวฝึกซ้อมรวมกัน 2 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคเป็นครั้งแรกนั้น สมาคมฯได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 4 องค์กร และสปอนเซอร์ จึงมีความรู้สึกมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการจัดงานนี้ได้สำเร็จและสร้างความพึงพอใจให้กับนานาประเทศผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ในโอกาสนี้จึงขอขอบคุณ สเปเชียลโอลิมปิคสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ขอขอบพระคุณหน่วยงานพันธมิตร คือ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์   การกีฬาแห่งประเทศไทย     บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จํากัด   และบริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) พร้อมสปอนเซอร์หลัก บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยินดีให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน”

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  “การแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตัน นับเป็นโอกาสพิเศษที่ประเทศไทยจะช่วยสานต่อความร่วมมือระหว่างสหพันธ์แบดมินตันโลก กับสเปเชียลโอลิมปิคสากล ในอันที่จะส่งเสริมการเล่นกีฬาแบดมินตันให้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้นในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค อีกทั้งยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามยุทธศาสตร์ที่สามของสมาคมคือ Badminton for Everyone รวมถึงเป็นวิสัยทัศน์ของสหพันธ์แบดมินตันโลกด้วย ที่ต้องการให้แบดมินตันเป็นกีฬาชั้นนำของโลก และทุกคนรวมถึงผู้พิการทางสติปัญญาสามารถเข้าถึงได้”
“ความร่วมมือระหว่าง สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และ สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความสามารถ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเล่นกีฬาแบดมินตัน ใช้กีฬาแบดมินตันเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยปลูกฝังค่านิยมโอลิมปิก คือ ความเป็นเลิศ มิตรภาพ และความเคารพซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและมีความสุขในการใช้ชีวิต เพราะการแข่งขันมิใช่เพียงแค่มุ่งที่จะชนะกันเพื่อคว้าเหรียญรางวัลเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือมุ่งให้ทุกคนประสบชัยชนะในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุก”
 
ดร.ก้องศักด  ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า “จาก 12 แผนงานหลักของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่จะยกระดับวงการกีฬาไทยให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติทั้งหมดนั้น หนึ่งในแผนงานเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬาให้กับผู้พิการโดยเฉพาะ ด้วยการส่งเสริมอย่างครบวงจร พัฒนาระบบให้บริการศูนย์ฝึกและสนามกีฬาให้รองรับนักกีฬาคนพิการ เพื่อจะสร้างโอกาสให้คนพิการได้เล่นกีฬาอย่างสะดวก และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จทางการกีฬา นอกจากนี้ การสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็น ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งนโยบายกีฬาของประเทศไทยนั้นมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากลในอนาคต ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิคยูนิฟายด์แบดมินตันครั้งแรกนั้น จึงเป็นวาระที่เหมาะสมอย่างยิ่งในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่ง เป็นประธานอาเซี่ยนในปีนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงมีความยินดีในการสนับสนุนงบประมาณและสนามแข่งขันของรายการนี้”

นายจิรัฐ บวรวัฒนา ซีอีโอ ของ บีเอ็นเคโฟร์ที่เอท ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่มีส่วนร่วมในการเปิดตัวรายการแข่งขันระดับเอเชียแปซิฟิคของนักกีฬาพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาศิลปินวงบีเอ็นเคโฟร์ที่เอทได้สนับสนุนโครงการสเปเชียลโอลิมปิคไทยในมุมต่างๆ โดยเพาะอย่างยิ่ง ในการสื่อสารให้สังคมได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถของนักกีฬา        ผู้พิการกลุ่มนี้ ซึ่งภายในพิธีเปิดวันที่ 13 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ได้จัดมินิคอนเสิร์ตรอบพิเศษขึ้นเพื่อส่งกำลังใจให้นักกีฬา รวมทั้งเป็นการตอบแทนสังคมที่ทำให้ศิลปินวงบีเอ็นเคโฟร์ที่เอทอยู่ตรงจุดนี้

 ในขณะที่ นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์   ซีอีโอ ของ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงนโยบายการเคารพสิทธิมนุษยชนขององค์กร การสนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้เข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับศักยภาพของนักกีฬาพิเศษ และการแข่งขันรายการนี้ อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างการยอมรับในสังคม 

สำหรับสปอนเซอร์หลักของรายการ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสินเชื่อองค์กรและกิจการเพื่อสังคม นางอัญชลี หวังวีระมิตร  กล่าวถึงความตั้งใจขององค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสติปัญญา 

ปิดท้ายด้วย   การกล่าวขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนแทนคณะนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทย  ของ นายธนธรณ์           ตีรพัฒนพันธุ์  นักกีฬาแบดมินตัน และการขอกำลังใจในการเข้าชิงชัยในการแข่งขันรายการนี้

ทั้งนี้ สเปเชียลโอลิมปิค เป็นโครงการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสติปัญญาโดยใช้กีฬาเป็นสื่อ      จัดกิจกรรมในประเทศไทยกว่า 40 รายการตลอดทั้งปี สำหรับการแข่งขันชิงแชมป์สเปเชียลโอลิมปิคเอเชียแปซิฟิค      ยูนิฟายด์แบดมินตันครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ประกอบด้วยทีมสเปเชียลโอลิมปิคจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ประเทศ  เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเก้า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน มัลดีฟ และ ไทย โดยมีนักกีฬาพิเศษและคู่ยูนิฟายด์เข้าแข่งขันทั้งหมด 108 คน เป็น ชาย  29 คู่ และ หญิง  25 คู่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน  43 คน