“คุณหญิงปัทมา” นั่งรองประธานแบดโลก ชาติสมาชิกเทคะแนน ชนะจีนขาดลอย
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหพันธ์แบดมินตันโลก ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีวาระสำคัญในการประชุม คือ การเลือกรองประธานสหพันธ์แบดมินตันในวาระปี 2019 - 2021 โดยมีผู้สมัคร 2 คน ได้แก่ มร.จาง จวิน อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก และประธานสมาคมกีฬาแบดมินตันประเทศจีน และ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ปรากฏว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชนะคะแนนโหวตอย่างขาดลอย ด้วยคะแนน 176 ต่อ 88 จากประเทศสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 145 ประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาสหพันธ์แบดมินตันที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง ซึ่งมีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน จากประเทศ แซมเบีย ญี่ปุ่น โมรอคโค และ เลโซโท โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากที่ประชุมคือ มร. คินจิ เซนิยะ เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตันประเทศญี่ปุ่น
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวภายหลังได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลกว่า “ขอขอบพระคุณทุกกำลังใจ และความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกสหพันธ์แบดมินตันโลก ที่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมากที่ได้รับตำแหน่งนี้ ที่จะสร้างเสริมความก้าวหน้าให้แก่วงการกีฬาแบดมินตันโลก และวงการแบดมินตันของไทย รวมถึงเตรียมพร้อมให้กีฬาแบดมินตันประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ให้เต็มกำลังความสามารถ”
“การพัฒนากีฬาแบดมินตันตามยุทธศาสตร์ 3B ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการได้แก่ B ตัวที่หนึ่ง Badminton for Everyone เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนคนทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพหันมาใช้กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาสำหรับการออกกำลังกายทั้งเพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อการแข่งขันซึ่งจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้กีฬาแบดมินตันนั้นได้รับความนิยมสูงยิ่งขึ้น B ตัวที่สอง Build World Champions การพัฒนานักกีฬาแบดมินตันมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับโลก ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้กีฬาแบดมินตันนั้นได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ส่วน B ตัวสุดท้าย Best-Practice Management มุ่งเน้นในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการกีฬาแบดมินตันนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวคิดขององค์กรกีฬาระดับโลกทั้ง IOC และ BWFซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับการแข่งขันที่ยุติธรรม ปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งในเรื่องของการใช้สารกระตุ้นและการล็อกผลการแข่งขัน”
https://www.youtube.com/watch?v=X2qc5SOzmGU